การว่างงาน หรือตกงานนั้นเป็นเรื่องไม่คาดฝันที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากเจอ แต่ถ้าหากคุณเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 ที่มีการจ่ายเบี้ยประกันสังคมในทุกๆ เดือน หากเกิดเหตุที่ทำให้คุณต้องว่างงานขึ้นมาล่ะก็ คุณสามารถลงทะเบียนว่างงานเพื่อขอรับสิทธิช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคมได้
บทความนี้เงินติดล้อจะพาคุณมารู้จักกับขั้นตอนการลงทะเบียนว่างงาน และเงินชดเชยต่างๆ ที่คุณจะได้รับจากสำนักงานประกันสังคม มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง!
ขั้นตอนลงทะเบียนว่างงาน ต้องทำอย่างไรบ้าง
สำหรับการลงทะเบียนว่างงานนั้น ไม่จำเป็นต้องไปเดินเรื่องที่สำนักงานประกันสังคมด้วยตัวเองอีกแล้ว เพราะสามารถดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เรามาดูกันเลยว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
- อันดับแรก ให้ผู้ที่ต้องการลงทะเบียนว่างงานทำการเข้าเว็บไซต์ของ กรมจัดหางาน จากนั้นทำการลงทะเบียนให้เรียบร้อยโดยใช้ข้อมูลจากบัตรประชาชน
- เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วให้ทำการยื่น แบบคำขอรับผลประโยชน์ ในกรณีว่างงาน หรือ สปส. 2-01/7 โดยจะต้องทำการแนบเอกสารประกอบอื่นๆ ส่งไปด้วย
- เมื่อจัดเตรียมแบบคำขอ และเอกสารอื่นๆ พร้อมแล้ว ให้ทำการส่งเอกสารต่างๆ ไปยังสำนักงานประกันสังคมได้ทุกสาขาทั่วประเทศ
หมายเหตุ: ในกรณีที่ไม่สามารถทำการลงทะเบียนว่างงานผ่านระบบออนไลน์ได้ ผู้ประกันตนก็สามารถเดินทางไปยังสำนักงานประกันสังคมพร้อมเอกสาร เพื่อดำเนินการด้วยตัวเองได้เช่นกัน
หรือทำการติดต่อสอบถามไปยังสำนักงานประกันสังคมโดยตรง ผ่านเบอร์โทรศัพท์: 1506
เอกสารที่ต้องใช้ยื่นมีอะไรบ้าง?
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน ในกรณีว่างงาน หรือ สปส. 2-01/7
- บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา
- รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 1 รูป (รูปถ่ายต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน)
- หนังสือรองรับการออกจากงาน สำเนาการแจ้งการลาออก หรือ สปส. 6-09 (กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส. 6-09 ก็ยังคงสามารถขึ้นทะเบียนว่างงานได้)
- หนังสือ หรือเอกสารแจ้งให้ออกจากนายจ้าง (หากมี)
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคาร โดยชื่อที่ระบุในหน้าสมุดบัญชีต้องเป็นชื่อของผู้ประกันตนที่ทำการลงทะเบียนว่างงาน
ลงทะเบียนว่างงาน ได้รับสิทธิอะไรบ้าง
มาดูกันว่ากรณีที่ลงทะเบียนว่างงานกับสำนักงานประกันสังคมเรียบร้อยแล้วนั้น คุณจะได้รับสิทธิชดเชยอะไรบ้าง และมีเงื่อนไขในการได้รับอย่างไร
-
กรณีถูกเลิกจ้าง
เงื่อนไขการรับเงินชดเชย: ต้องส่งเงินประกันสังคมครบ 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนถูกเลิกจ้าง โดยต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านเว็บไซต์ empui.doe.go.th
สิทธิที่ได้รับ: ได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วันต่อปี
-
กรณีลาออกเอง หรือหมดสัญญาจ้างงาน
เงื่อนไขการรับเงินชดเชย: ต้องส่งเงินประกันสังคมครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนลาออก โดยต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านเว็บไซต์ empui.doe.go.th
สิทธิที่ได้รับ: ได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วันต่อปี
นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้สิทธิสวัสดิการจากประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยไม่ต้องจ่ายเงินประกันสังคมภายในระยะเวลานั้น เช่น ค่าทำฟัน ค่ารักษาพยาบาล ค่าคลอดบุตร ฯลฯ